ถอดบทเรียนดราม่าจองตั๋วรถไฟ ปัญหาอยู่ที่คณิตศาสตร์ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรืออะไรกันแน่

Pat Vatiwutipong

สำหรับใครที่ไม่ได้ตามข่าว เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่หลักเกณฑ์การจองตั๋วล่วงหน้าทางเพจ Facebook โดยในหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับร้อยละของระยะทางการเดินทาง ต่อมามีผู้แชร์โพสท์นี้ไปมากมายโดยเสียงส่วนใหญ่ดูจะไปในเชิงลบว่าเข้าใจยาก ซับซ้อนเกินไป แค่จะจองตั๋วล่วงหน้าต้องคำนวณเก่งขนาดนั้นเลยหรอ จนในที่สุดการรถไฟก็ได้ลบโพสท์นี้ทิ้งไป และออกมาอธิบายให้ใครกระจ่างกับสังคม

สุดท้ายเหตุการณ์นี้ก็ผ่านไป เหมือนกับดราม่าอีกมากมายในหน้าทามไลน์ของเรา แต่คำถามคือเราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้ ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก บทความนี้จะมาค่อย ๆ สรุปไล่เรียงไปทีละประเด็น

หลักเกณฑ์นี้สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร จะทำให้ยากเล่นทำไม?

จริง ๆ แล้วเกณฑ์สามข้อที่แสนงงนี้ ถ้าสรุปให้เป็นภาษาง่าย ๆ จะเหลือเพียงข้อความที่ว่า “คนที่นั่งไกลจะได้จองก่อน” ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คือถ้าจะนั่งจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ซึ่งไกลมาก ๆ ให้จองล่วงหน้าได้ถึง 90 วันเลย แต่ถ้าจะนั่งใกล้ ๆ แค่กรุงเทพอยุธยานั้นต้องรอไปก่อน จองล่วงหน้าได้แค่ 30 วันเท่านั้น ส่วนคนที่นั่งใกล้มาก ๆ ให้จองได้แค่วันเดียวล่วงหน้าเท่านั้น

แล้วถามว่าทำแบบนี้ทำไม การรถไฟมองว่าถ้าปล่อยให้คนที่จองระยะใกล้ได้จองก่อน มันจะเกิดสภาวะการถูกจองแบบแหว่ง ๆ นั่นคือมีคนนึงจองกรุงเทพอยุธยา อีกคนมาจองนครสวรรค์เชียงใหม่ ทีนี้ที่นั่งตัวนั้นก็จะว่างแค่ช่วงนครสวรรค์เชียงใหม่เท่านั้นซึ่งขายยาก จะเอาไปขายคนที่นั่งทางไกลก็ไม่ได้ แล้วถ้าเกิดทุกที่นั่งในขบวนนั้นถูกจองแหว่งไปแหว่งมาแบบนี้ คนที่นั่งรถทางไกลก็จะไม่มีที่เหลือให้จองเลย แต่ถ้าเราให้จองกันเป็นลำดับตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศออกมา โอกาสที่ที่นั่งจะว่างกลางทางก็จะลดลง

ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้แล้วคนเดินทางระยะใกล้ก็จะเสียเปรียบหรือเปล่า ก็คงต้องตอบว่าใช่ แต่หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยอธิบายว่าคนที่จะเดินทางระยะใกล้นั้นมีรถไฟสายอื่น ๆ เป็นตัวเลือกมากกว่าคนที่เดินทางระยะไกลอยู่แล้ว ซึ่งก็ฟังดูมีเหตุผล

ดังนั้นสรุปว่าการรถไฟไม่ได้ตั้งหลักเกณฑ์นี้ขึ้นมาให้ยากเล่น ๆ แต่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้โดยสารจองตั๋วรถไฟได้ตามลำดับที่เหมาะสม เพื่อให้ที่นั่งบนรถไฟแต่ละขบวนถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งผลลัพท์จะออกมาเป็นยังไงก็ต้องดูกันต่อไป

แต่หลักเกณฑ์นี้ยากไปไหม ทำไมต้องมาคิดร้อยละอะไรด้วย?

จากประเด็นที่แล้วที่ผมใช้คำพูดง่าย ๆ ว่าเดินทางระยะไกลกับเดินทางระยะใกล้นั้นเพื่อให้เห็นภาพ แต่ดังเช่นที่วงเก็ตสึโนวาเคยถามเอาไว้ว่า ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ การรถไฟจึงได้กำหนดว่า ถ้าไกลเกิน 60% ของทั้งสายให้ถือว่าไกล 25-60% ถือว่าเป็นระยะปานกลาง และสั้นกว่า 25% ถือว่าใกล้ บางคอมเมนต์ถามว่าทำไมต้องกำหนดเป็นร้อยละ กำหนดเป็นระยะทางมาเลยไม่ได้หรอ ก็ต้องตอบว่าไม่ได้ สาเหตุที่ต้องกำหนดเป็นร้อยละก็เพราะว่ารถไฟแต่ละสายนั้นยาวไม่เท่ากัน ก็เหมือนกับที่สินค้าลดราคาเขาต้องลดเป็นร้อยละนั่นแหละ ลองนึกภาพว่าถ้าห้างจัดโปรลดราคา 100 บาททั้งห้าง ทีวีเครื่องละเป็นหมื่นลดร้อยเดียวเอง ในขณะที่ปากกาด้ามละ 50 บาทลดร้อยบาทไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ถ้าจัดโปรลง 30% ทั้งห้างแบบนี้ก็จะโอเคกับทุกสินค้า เส้นทางรถไฟก็เช่นกัน

ตั้งเกณฑ์แบบนี้ จะจองรถไฟทีต้องถามนักคณิตศาสตร์โอลิมปิกเลยไหม?

แม้จะรู้ดีว่าประโยคทำนองนี้เป็นการประชดประชันเพื่ออถรรรส แต่ถ้าต้องตอบแบบจริงจังก็คือไม่ต้อง ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคนควรจะได้เรียนการคำนวณเกี่ยวกับร้อยละกันมาตั้งแต่ชั้นประถม และร้อยละก็วนเวียนอยู่รอบตัวเรามาตลอด ตั้งแต่การลดราคาสินค้า การคิด VAT การคิด service charge การคิดดอกเบี้ยเงินฝาก หรือแม้แต่การเลือกกด code ลดราคาสินค้าตอนซื้อของออนไลน์อย่างไรให้คุ้มค่าก็ต้องอาศัยความรู้เรื่องร้อยละอยู่แล้ว

งั้นถ้าการคิดร้อยละมันอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว ทำไมการคำนวณเพื่อจองตั๋วรถไฟถึงเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา

ผมมีสองสมมติฐาน ข้อแรกคือเพราะเรื่องพวกนั้นเราคิดมาตลอดอยู่แล้ว แต่เรื่องจองตั๋วรถไฟเราไม่เคยต้องคิด คือคนอาจจะมองว่าจริง ๆ การคิด VAT หรือ service charge มันก็ยุ่งยากแหละ แต่ด้วยความที่มันก็ยุ่งยากแบบนี้มาตั้งแต่จำความได้ ทุกคนก็เลยคุ้นเคยแล้วก็ไม่ได้ติดใจอะไร แต่การจองตั๋วรถไฟเราไม่เคยต้องคำนวณมาก่อนจึงอาจจะรู้สึกไม่ชิน

กับข้อที่สองที่ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าเป็นข้อนี้มากกว่า นั่นคือเพราะปกติเราไม่เคยต้องคิดเอง อย่างกรณี VAT หรือ service charge สุดท้ายพวกร้านอาหารเขาก็จะคิดมาให้ ว่ายอดสุดท้ายที่ต้องจ่ายเป็นเท่าไร เราก็แค่จ่ายไปตามยอดที่ร้านแจ้งมาโดยไม่ต้องมาคำนวณเองให้ยุ่งยาก หรืออย่างการกด code ลดราคาสินค้า แอพต่าง ๆ ก็จะเซอร์วิสผู้ใช้งานด้วยการลองคิดให้ดูเลยว่าถ้าใช้โค้ดนี้จะลดเหลือเท่าไร ถ้าใช้อันนี้รวมกันอันนี้จะเหลือเท่าไร พูดง่าย ๆ ก็คือคนส่วนใหญ่แม้จะต้องข้องเกี่ยวกับเรื่องร้อยละอยู่เป็นประจำแต่ด้วยความที่เรามีเครื่องมือช่วยคำนวณอยู่เสมอจึงไม่เคยรู้สึกว่าเป็นภาระอะไร

ในกรณีของการรถไฟจะเห็นว่าหนักกว่าแค่คำนวณร้อยละอีก เพราะในการจะหาว่าจองตั๋วล่วงหน้าได้กี่วัน ก่อนจะไปถึงขั้นการคำนวณร้อยละให้ถูกเรายังต้องรู้ด้วยว่าเส้นทางสายที่เราจะนั่งนั้นยาวเท่าไร แล้วระยะทางที่เราจะจองมันยาวเท่าไร ก่อนจะเอาสองค่านี้มีคิดเป็นร้อยละ ซึ่งถ้ามองในความเป็นจริงก็คือข้อมูลพวกนี้นั้นไม่ใช่ข้อมูลที่ผู้โดยสารรถไฟรู้อยู่แล้ว ไม่มีใครเคยจำได้หรือรู้ว่าต้องไปหาระยะพวกนี้มาจากไหน ดังนั้นถึงจะคำนวณร้อยละเป็น ก็ต้องไปนั่งหาเลขพวกนี้มาเพื่อคำนวณอยู่ดี

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายคนจะมองว่าสิ่งนี้มันยาก เพราะถึงแม้คุณจะไม่ได้มองว่าการคิดเลขมันยาก แต่การจะหาเลขเพื่อมาคิดก็ยังยุ่งยากอยู่ดี

สรุปคือเกณฑ์มันดีแต่มันยาก งั้นควรทำยังไงดี?

ปัญหานี้ง่ายมาก ง่ายแบบง่ายมาก ๆ นั่นก็คือการสร้างโปรแกรมคำนวณขึ้นมา จบ

เอาตัวอย่างที่เห็นภาพชัดที่สุดนั่นคือแท็กซี่ ผมไม่แน่ใจว่าคุณผู้อ่านทราบกันหรือเปล่าว่าหลักเกณฑ์การคำนวณค่าแท็กซี่นั้นว่าอย่างไรบ้าง ที่คนพอรู้ก็คือ เริ่มต้นที่ 35 บาท แล้วก็เพิ่มตามระยะทางทีละ 2 บาท บางคนอาจจะรู้ลึกลงไปอีกว่าเขาจะเอาเวลาที่รถติดมาคำนวณด้วย แต่ความจริงแล้วมันซับซ้อนกว่านั้นมาก นั่นคือ

  • ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท
  • กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้กำหนดอัตรานาทีละ 3.00 บาท

สมมติผมถามว่าถ้าเรานั่งไปไกล 34 กิโลเมตรโดยมีช่วงที่รถติดนาน 6 นาทีจะคิดเป็นราคาเท่าไร ไม่ง่ายนะฮะ คือโอเคถ้ามีเวลาแล้วค่อย ๆ คิดค่อย ๆ ทำความเข้าใจมันก็คงไม่เกินสติปัญญาของมนุษย์หรอก แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้ง่ายแบบที่คนทั่วไปคิดในหัวแล้วตอบได้เลย แต่อย่างที่ผมตั้งเป็นสมมติฐานไปในหัวข้อที่แล้วว่าที่ไม่เคยมีใครออกมาบ่นหรือดราม่าเรื่องการคิดราคาแท็กซี่ก็เพราะว่าปกติแล้วมิเตอร์มันคำนวณมาให้เลยไงฮะ ผมเชื่อว่าในสถานการณ์ปกติไม่มีใครมานั่งคิดราคาแท็กซี่เองแน่นอน มิเตอร์มันคิดออกมาให้เป็นเท่าไรก็จ่ายเท่านั้น

เรื่องจองตั๋วรถไฟก็เหมือนกัน สุดท้ายแล้วถ้าเรามีเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันที่ผู้ใช้เพียงแค่กรอกชื่อสถานีต้นทางและปลายทางที่ตัวเองจะนั่งไป แล้วให้ระบบมันคำนวณออกมาให้เลยว่าจองตั๋วได้ตั้งแต่วันไหน เรื่องก็จะจบ ไม่มีดราม่าเหมือนกับที่เรื่องอื่น ๆ ไม่เคยมี หรือถ้ากลัวว่าบางคนที่ไม่ถนัดใช้เทคโนโลยีจะเข้าไม่ถึง ก็ยังมีวิธีสื่อสารที่ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายเช่นการทำเป็นแผนภาพเหมือนที่ชอบแปะอยู่บนรถเมล์อย่างที่เพจ ‘สถานีรถไฟบาลอ - BALO Railway Station’ ได้ทำไว้ให้ดูเป็นตัวอย่างก็พบว่าเข้าใจง่ายดี

สรุปแล้วปัญหาอยู่ที่คณิตศาสตร์ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรืออะไรกันแน่

ความน่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือ ถ้าอ้างอิงจากคำอธิบายของผู้ว่าการการรถไฟหลังมีดราม่า ท่านบอกว่าในทางปฏิบัติผู้ใช้ไม่ต้องมานั่งคำนวณเอง แต่แค่แจ้งสถานีต้นทางกับปลายทางมาเท่านั้นระบบก็จะบอกว่าจองได้หรือยังโดยไม่ต้องคำนวณเอง ก็คือมันจะมีโปรแกรมคำนวณให้เราเหมือนที่คุยกันไปในหัวข้อที่แล้วนั่นแหละ

สรุปก็คือ หลักเกณฑ์ก็เหมือนจะดี ปัญหาเรื่องการต้องคิดเลขซับซ้อนจริง ๆ แล้วก็เหมือนจะไม่มี ถ้างั้นสิ่งเดียวที่ดูจะเป็นปัญหาในเรื่องนี้ก็คือการสื่อสารนั่นแหละ คือถ้าลองดูจากข้อความในโพสท์เจ้าปัญหาของการรถไฟที่มีการบอกเกณฑ์ออกมาเป็นข้อ ๆ และมีตัวอย่างการคำนวณด้วย ก็อาจจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดไปว่าผู้โดยสารต้องเป็นคนคำนวณเองด้วยมือทุกครั้งที่จะจองตั๋วรถไฟ ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ดูจะสุดโต่งไปหน่อย แต่ประสบการณ์ที่ผู้อ่านมีต่อการรถไฟก็อาจจะชวนให้คิดไปในทางนั้นได้

ความจริงแล้วการประกาศเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกมาให้ชัดเจนนั้นเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม เพราะมันจะช่วยให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ อย่างเรื่องเกณฑ์การคำนวณมิเตอร์แท็กซี่ที่ในวันปกติเราก็ไม่มีใครคิดจะมาสนใจเกณฑ์พวกนั้นหรอก จนกระทั่งเรารู้สึกว่ามิเตอร์กำลังถูกปรับแต่งให้คิดราคาแพงเกินจริงนั่นแหละ หลักเกณฑ์พวกนั้นจึงจะถูกหยิบขึ้นมาดูกันจริง ๆ จัง ๆ

นี่จึงเป็นบทเรียนชั้นดีที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสาร ว่าไม่ว่าคุณจะมีเจตนาที่ดี พยายามแก้ปัญหาบางอย่างด้วยวิธีที่คิดมาแล้วอย่างแสนชาญฉลาด แต่ถ้าสื่อสารออกไปผิดพลาดจนทำให้คนเข้าใจไปอีกทาง คราวนี้พอดราม่ามันลุกลามจะมาอธิบายทีหลังก็ไม่มีใครตามฟังแล้ว

https://www.facebook.com/photo?fbid=739598698198124&set=a.308511667973498

https://www.scimath.org/ebook-mathematics/item/8378-2560-2551

https://images.workpointtoday.com/workpointnews/2023/01/14085011/1673661007_35079_.pdf?_ga=2.140059255.576636360.1700667355-1343160114.1698132581

https://www.facebook.com/photo?fbid=739598698198124&set=a.308511667973498

https://www.thairath.co.th/news/society/2741998