เดี๋ยวนี้เราก็มีเครื่องคิดเลขใช้กันแล้วนี่ แล้วทำไมโลกนี้ยังต้องมีวิชาคณิตศาสตร์กันอยู่อีก?

Pat Vatiwutipong

หนึ่งในคำถามยอดฮิตตลอดกาลที่ผมถูกถาม ก่อนตอบ ต้องเคลียกันให้ชัดก่อนว่าเครื่องคิดเลขที่กำลังพูดถึงนี้หมายถึงอะไร แน่นอนว่าผมไม่ได้กำลังพูดถึงเครื่องคิดเลขแม่ค้าที่ทำได้แค่บวกลบคูณหาร

ใครที่อยู่ในแวดวงที่ใช้คณิตศาสตร์น่าจะมีภาพตรงกันว่าเครื่องคิดเลขเดี๋ยวนี้มันล้ำกว่านั้นมาก ผมไม่ได้กำลังพูดถึงเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ที่ปุ่มเยอะ ๆ แบบที่เด็กมหาลัยเค้าใช้กัน แต่ผมหมายถึงเครื่องคิดเลขไฮโซระดับโปรแกรมคณิตศาสตร์จำพวก mathematica หรือ wolfram alpha ซึ่งทำอะไรได้เยอะมาก ดิฟ อินทิเกรต แก้ระบบสมการเชิงอนุพันธ์ แก้สมการเชิงซ้อน หาฟูเรียร์ทรานฟอร์ม หรืออะไรอีกเย๊อะไปหมดเลย เยอะระดับที่ว่า ทุกอย่างที่เรียนกันในคณิตศาสตร์ระดับปริญญาตรีน่ะ ที่ท่องสูตรแทบตาย คิดเลขกันมือหงิก แค่กดกริ๊กเดียวพวกโปรแกรมพวกนั้นก็ออกแล้ว

มันจึงยิ่งตอกย้ำคำถามที่ว่า แล้วจะให้เรียนกันแทบตายไปทำไม ถ้าสุดท้ายก็ต้องมากดเครื่องคิดเลขอยู่ดี

คำตอบหนึ่งที่เมื่อก่อนผมมักจะตอบไปก็คือ เพราะเราจะได้รู้ที่มาไง รู้ที่ว่ามาตัวเลขแต่ละตัวมันมาได้ยังไง เครื่องคิดเลขมันคิดมายังไง

ซึ่งพอผมตอบไปแบบนี้ ก็มักจะโดนถามกลับมาว่า เอาจริงใครอยากรู้หรอ สุดท้ายเวลาเอาไปใช้จริง ๆ เราก็ต้องการแค่คำตอบรึเปล่า ที่มาน่ะช่างมันเถอะ แม้จะฟังดูชวนหงุดหงิดหน่อยสำหรับผมในฐานะนักคณิตศาสตร์ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันก็จริงในมุมของผู้ใช้นั่นแหละ

คำตอบใหม่ที่ผมเลือกใช้ตอบเดี๋ยวนี้ก็คือ เพราะว่าฟีเจอร์ในเครื่องคิดเลขมันไม่พอใช้ยังไงล่ะ แม้แต่เครื่องคิดเลขที่ดีที่สุดในโลกที่เรามี มันก็ยังดีไม่พอ และนั่นแหละ คืองานของนักคณิตศาสตร์

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณก็อาจจะคิดว่า ก็พวกนักคณิตศาสตร์มันว่างไง มันก็คิดนั่นคิดนี่ไปเรื่อยของมัน ก็จะบอกว่าไม่ใช่เลย ส่วนใหญ่น่ะ คนที่ร้องโวยวายว่าเครื่องคิดเลขมีฟีเจอร์ไม่พอใช้น่ะ ไม่ใช่นักคณิตศาสตร์ เป็นนักอื่นทั้งนั้นแหละ นักฟิสิกส์ นักชีวะ นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักอะไรก็แล้วแต่

นักพวกนี้ใช้คณิตศาสตร์ที่เรามีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ จนไปถึงจุดที่ลองคณิตศาสตร์หมดโลกแล้วก็ยังแก้ไม่ได้อยู่ดี

ซึ่งนั่นแปลว่าแค่เพราะเครื่องคิดเลขที่ดีที่สุดที่เรามีในโลกนี้มันยังดีไม่พอให้นักต่าง ๆ ในโลกนี้เขาใช้กันไงล่ะ มันก็เลยต้องมีนักคณิตศาสตร์ไว้ค่อยเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เข้าไปให้ใช้เรื่อย ๆ อย่างนี้นี่แหละ

ดังนั้นตราบใดที่มนุษย์ยังไม่ยอมหยุดพัฒนา ตราบใดที่เรายังอยากมีเทคโนโลยี มีนวัตกรรมใหม่ ๆ มาไว้ใช้กันอยู่อย่างในทุกวันนี้นั้น โลกนี้ก็ยังต้องมีวิชาคณิตศาสตร์กันต่อไป